มันฝรั่ง
มันฝรั่ง ชื่อสามัญPotato, Irish potato, White potato[1]
มันฝรั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum tuberosum L. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1],[3]
มันฝรั่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มันเทศ มันอาลู มันอีลู (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1]
ลักษณะของมันฝรั่ง
- ต้นมันฝรั่ง เป็นพืชดั้งเดิมของชาวโลกซีกตะวันตก เชื่อว่ามีแหล่งกำเนิดบนพื้นที่ระหว่างเม็กซิโกและชิลี บนแถบที่ราบสูงบนเทือกเขาแอนดีส ในประเทศโบลิเวีย หรือเปรู โดยจัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 4-5 เดือน ลำต้นมีลักษณะเป็นกิ่ง ตั้งตรงและมีความสูงของต้นประมาณ 0.6-1 เมตร ลำต้นเป็นครีบ เมื่ออ่อนมีขน หัวเกิดจากลำต้นที่อยู่ใต้ดิน ใน 1 ต้นจะให้หัวมันฝรั่งประมาณ 8-10 หัว สำหรับแหล่งปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยที่ได้ผลดี คือ จังหวัดทางภาคเหนือซึ่งมีอากาศหนาวเย็น เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ส่วนทางภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ก็มีปลูกกันบ้างแต่มีผลผลิตน้อยเมื่อเทียบกับจังหวัดทางภาคเหนือ โดยจังหวัดเชียงใหม่เป็นที่มีการปลูกและผลิตมันฝรั่งมากที่สุด
หัวมันฝรั่ง หัวเกิดไหลอันเป็นลำต้นที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดเป็นกิ่งหรือเกิดจากส่วนล่างของลำต้น งอกชอนไชลงไปในดิน ตอนกลายขยายใหญ่ เพื่อสร้างหัว หัวมีตาอยู่โดยรอบในลักษณะวงกลม ตาแต่ละตาจะสามารถแตกออกได้ 3 กิ่ง ที่ตามีเกล็ดที่มีรูปร่างคล้ายจาน มีไว้สำหรับป้องกันตาไม่ให้ได้รับอันตราย ภายในหัวมันฝรั่งมีแกนตรงกลางพุ่งไปยังตาทุกตา
ใบมันฝรั่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ มีขนเล็กน้อย ประกอบไปด้วยใบยอด 1 ใบ และใบย่อยที่มีลักษณะเป็นรูปรี หรือรูปไข่แกมแวงรีหรือแกมไข่กลับปลายแหลมประมาณ 2-4 คู่ และใบย่อยสั้นอีก 2 คู่ หรือมากกว่านี้ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-7 เซนติเมตร
ผลมันฝรั่ง ผลเป็นผลสดมีหลายเมล็ด ผลมีลักษณะเล็กและกลม ผลเป็นสีเขียวหรือสีน้ำตาล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 1 นิ้ว ผลติดกันเป็นพวง ๆ
สรรพคุณของมันฝรั่ง
- หัวมีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตสูงและช่วยป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว (หัว)[1],[4]
- ช่วยลดไขมัน ด้วยการใช้หัวมันฝรั่งมาปรุงเป็นอาหารรับประทาน (หัว)[1]
- ช่วยป้องกันและรักษาโรคโลหิตจางได้ เพราะร่างกายจะดูดซึมธาตุเหล็กกับวิตามินซีที่มีอยู่ในหัวมันฝรั่ง ซึ่งจะช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงในร่างกาย (หัว)[4]
- ใบมีสรรพคุณช่วยทำให้หลับ (ใบ)[1]
- หัวมีสรรพคุณเป็นยาระงับประสาท (หัว)[1]
- มันฝรั่งก็ช่วยบำรุงสมองได้ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินบี 6 ที่เป็นตัวช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง ทำให้ผลิตสารสื่อประสาทได้อย่างเป็นปกติ เช่น เซโรโทนิน (ช่วยกระตุ้นอารมณ์), กาบา (ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย), และอดรีนาลิน (ช่วยลดความเครียด) โดยปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันคือ ครึ่งถึงหนึ่งถ้วยตวง (ทั้งแบบบดและแบบต้ม) และไม่ควรรับประทานมากกว่านี้ เพราะมีวิตามินซีอยู่ จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร จนทำให้รู้สึกท้องอืดเฟ้อได้
- ชาวเปรูจะนำมันฝรั่งมาทาบริเวณศีรษะเพื่อช่วยรักษาอาการปวดศีรษะ (หัว)[3]
- มันฝรั่งมีวิตามินซีมาก จึงช่วยป้องกันไข้หวัดได้ (หัว)[4]
- นอกจากจะช่วยป้องกันหวัดแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย (หัว)[5]
- ตำรับยาแก้คางทูม ให้ใช้มันฝรั่ง 1 ลูก นำมาฝนกับน้ำส้มสายชู แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น เมื่อแห้งแล้วให้ทาซ้ำจนหาย (หัว)[3]
- หัวใต้ดินมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยในการย่อย (หัว)[1]
- ในหัวมันฝรั่งจะมีสารจำพวกเพกทิน (เป็นสารที่พบในผนังเซลล์และเนื้อเยื่อของพืชบางชนิด) ประกอบด้วยกรดกาแล็กทูรอนิก ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของกาแล็กโทสเป็นหลัก (ในผลไม้จะมีเพกทินเป็นตัวเชื่อมผนังเซลล์ทำให้แข็งและคงรูป เมื่อผลไม้สุกงอม เพกทินจะสลายตัวเป็นน้ำตาลที่ละลายได้ดี ทำให้ผลไม้นิ่มและเสียรูป) ซึ่งมีประโยชน์ช่วยทำให้การบีบตัวและการคลายตัวของลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น (หัว)[4]
- ชาวอิตาลีในสมัยก่อนจะปลูกต้นมันฝรั่งและนำไปต้มหรือเผากิน ครั้นเวลาจะกินก็จะเติมเกลือลงไปด้วยเล็กน้อย ด้วยเชื่อว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นความต้องการทางเพศได้ ทำให้คนที่กินมากจะมีลูกมาก (เรื่องนี้ก็ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นใดนะครับ) (หัว)[5]
- ช่วยถอนพิษที่เป็นอันตรายในตับ (หัว)[4]
- ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้น้ำคั้นจากหัวมันฝรั่งนำมาทาบริเวณแผลบ่อย ๆ หรือนำมาตำให้ละเอียดแล้วใช้พอก และให้เปลี่ยนยาหลาย ๆ ครั้ง (หัว)[1],[3]
- ใบมีสรรพคุณแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ในโรคไอ (ใบ)[1]
- ช่วยขับน้ำนมของสตรี (หัว)[1]
- ชาวเปรูเป็นชาติแรกที่นำมันฝรั่งมาทำเป็นยาพอกกระดูก เมื่อกระดูกหัก (หัว)[3]
- นอกจากนี้มันฝรั่งยังอุดมไปด้วยแคลเซียมมีส่งผลดีต่อหัวใจ ช่วยปรับฮอร์โมนและทำให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ช่วยในการดูดซึมอาหารได้ดี ป้องกันการบูดเน่าของอาหารภายในลำไส้ ลดอาการบวมและไตอักเสบ (หัว)
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมันฝรั่ง
- สารสำคัญที่พบ ได้แก่ Barogenin, Chaconine, Erytoxanthin, Glucinol optatolectin, Glucoside, Patatin, Stearic acid, Tuberoside, Zeaxanthin[1]
- มันฝรั่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ต้านการเป็นพิษต่อตับ ลดคอเลสเตอรอล ลดน้้ำในเลือด[1]
- Yamakawa และคณะ (1999) ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลอง Sweetpotato พบว่ามีสาร angiotensin converting enzyme ที่ช่วยลดความดันโลหิตสูงและลดไขมันได้[1]
- Noguchi และคณะ (2007) ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองสารสกัดจาก Potato snacks จำนวน 1.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในหนูถีบจักรทดลอง ผลการทดลองพบว่าสามารถลดความดัน SBP ได้ 35 มิลลิเมตรปรอท และลดไขมันได้[1]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ โดยให้แกะกินส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นมันฝรั่งในขนาด 2.8 กิโลกรัม และ 3.85 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 9 วัน ไม่พบพิษ[1]
- ในมันฝรั่งจะมีสาร Solanine โดยในมันฝรั่ง 1 กิโลกรัม จะมี Solanine ประมาณ 20-100 มิลลิกรัม โดย Solanine จะมีมากในรากและเปลือกมันฝรั่ง ในมันฝรั่งเปลือกแดงจะมี Solanine มากกว่ามันฝรั่งเปลือกเหลือง และมันฝรั่งดิบจะมี SOlanine มากกว่ามันฝรั่งสุก นอกจากนี้มันฝรั่งเมื่อโดนแสงแดดเปลือกจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียว และทำให้ปริมาณของ Solanine เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย[3]
- เฉพาะในเนื้อของมันฝรั่งที่มีรากงอกออกมาหรือเปลือกเปลี่ยนเป็นสีเขียวจะมีปริมาณของ Solanine น้อย เมื่อกินแล้วจะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าหากมีปริมาณของ Solanine เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติเป็น 4-5 เท่า หรือมากกว่า 0.4 กรัมต่อกิโลกรัม เมื่อกินแล้วจะเกิดอาการเป็นพิษได้ แต่ก็ไม่ถึงกับตาย และเคยมีรายงานว่า เด็กที่กินมันฝรั่งที่เปลือกเปลี่ยนเป็นสีเขียวจะทำให้เกิดอาการกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบถึงตาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น